Trekking Nepal วิธีเตรียมตัวก่อนไปเทรคกิ้งเนปาล
ใครอยากไป Trekking Nepal แล้วสงสัยว่าควรเริ่มต้นจากไหนดี วันนี้เรามีคำตอบมาให้จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ไปมาแล้วทั้ง ABC-Annapura Base Camp และ EBC-Everest Base Camp บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากไป Trekking Nepal ที่ ABC และก่อนไป EBC บางข้อมูลจึงอิงในส่วนของทริป ABC มากกว่า มีเพียงในส่วนของประกันการเดินทางที่เพิ่มเข้ามาหลังกลับจาก Trekking Nepal ทริป EBC ขอบอกว่า EBC สวยน้อยกว่าแต่โหดกว่าเยอะ
Annapura Base Camp
ABC เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ทั้งงดงาม สูงสง่า ตระการตา แต่ในขณะเดียวกันก็กลืนกินชีวิตผู้คนไปไม่น้อย จึงไม่ใช่สนามทดลองเพื่อฝึกสมรรถภาพร่างกาย หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่จะเหมาะกับทุกคน ไม่ใช่เพียงเพราะเห็นรูปสวยๆ ก็จะจองตั๋ว เก็บกระเป๋าแล้วกระโดดขึ้นเครื่องบินได้เหมือนจุดหมายปลายทางอื่นๆ
ลองใช้จินตนาการนึกภาพการเดินเท้าไต่ระดับความสูงจาก 1,000 เมตรกว่าๆ ไปจนกระทั่งถึงความสูงที่ระดับ 4,130 เมตร เป็นระยะเวลา 14 วัน ต้องตื่นเช้า แบกเป้หนัก 7-8 กิโลกรัมทุกวัน เดินขึ้นลงผ่านเทือกเขา หุบเขาเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ทุกวันๆ
Everest Base Camp
EBC อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,545 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใช้เวลาเดินเท้าจากเมืองลุกลาซึ่งมีระดับความสูงที่ 2,860 เมตร เดินทั้งหมดประมาณ 11 วัน แต่ทั้งทริปใช้เวลาประมาณ 14 วัน
แน่นอนว่าเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ความอิ่มเอมใจ ความรู้สึกภูมิใจก็เป็นเหมือนรางวัลว่าครั้งหนึ่งฉันเคยพิชิตหิมาลัย แต่บอกได้เลยว่าไม่ใช่เพราะเก่ง เพราะแข็งแรง เพราะเป็นนักกีฬา แต่จริงๆ แล้วมีองค์ประกอบหลายอย่างถึงทำให้ Trekking Nepal สำเร็จลงได้
Be Healthy
ข้อนี้สำคัญมาก หากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยหนึ่งถึงสองเดือนเต็ม วิ่ง เดิน เต้นแอโรบิก โยคะ อะไรก็ได้ที่ช่วยขยายปอด ช่วยให้กำลังขาดี แต่อย่าหักโหม อาจจะมีบางคนมาคุยให้ฟังว่า ไป Trekking Nepal ไม่เห็นต้องออกกำลังกายอะไรเลย อย่าลืมถามอายุเขาด้วย ส่วนใหญ่ที่พูดแบบนี้มักจะอยู่ในช่วงวัยประมาณยี่สิบต้นๆ หากยี่สิบตอนปลายขึ้นไป อย่าประมาท อย่าลืมว่าเรากำลังจะไปอยู่ในภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง
Cover Budget
มีเงิน ข้อนี้สำคัญไม่แพ้กัน หลายคนพยายามแสดงความสามารถในการไปเที่ยวแบบประหยัดที่สุด ซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่เท่าที่หาข้อมูลและพูดคุยกับนักเดินทางทั้งหลาย พบว่าการไปเทรคกิ้งที่เนปาล ทำได้ดีที่สุดอยู่ที่ประมาณสามหมื่นบาทเมื่อสองปีก่อน เพราะไม่ใช่แค่ค่าวีซ่า ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหารการกิน ค่าประกันชีวิต แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์การเดินเทรคกิ้งราคาไม่ถูกนัก หากการเงินยังไม่พร้อมก็ค่อยๆ เก็บไป ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องห่วงว่าเพื่อนจะไปแล้ว ถ้าเพื่อนรอไม่ได้ก็ปล่อยให้เพื่อนไปก่อน ไปเมื่อพร้อมเท่านั้น
Follow the Rules
การเคารพกฎ กติกา มารยาท เพราะ Trekking Nepal ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีข้อห้ามบางอย่างที่เราต้องเคารพ เช่น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ห้ามนำอาหารที่เป็นสัตว์บก สัตว์ปีกเข้าไป ห้ามเก็บดอกไม้หรือของป่า ความซื่อสัตย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งไปเป็นกลุ่มใหญ่ บางครั้งการคิดเงินค่าอาหาร การเสียค่าอาบน้ำอุ่น การเติมน้ำดื่ม ที่พักอาจดูแลเราได้ไม่ทั่วถึง ก็ควรซื่อสัตย์ในราคาที่เราต้องจ่าย จะทำให้เราเทรคกิ้งได้อย่างสบายใจและกลับลงมาอย่างมีความสุขมากขึ้น
Clothes and Tools
สิ่งสำคัญที่สุดในการเทรคกิ้งเนปาลคือรองเท้าและกระเป๋า กระเป๋าที่ดีต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหลังเรา ควรทดลองสะพายก่อนไป ทุกเช้าต้องเอากระเป๋าสะพายขึ้นหลัง ไม่ควรรู้สึกว่า โอย หนักจังเลย เราต้องสะพายด้วยความเบิกบาน มั่นใจ รองเท้าควรเป็นรองเท้าสำหรับเทรคกิ้งโดยเฉพาะ เลือกคู่ที่สวมถุงเท้าแล้วไม่รู้สึกว่าคับเกินไป ตอนเดินรัดเชือกให้แน่น ถ้าไม่รู้สึกรักรองเท้าคู่นี้ การเดินเทรคกิ้งที่เนปาลจะหมดสนุกทันที ส่วนเสื้อผ้านั้นเตรียมไปให้พร้อมรับทั้งฝน ร้อน หนาว
AMS หรือ Abuse Moutain Sickness
โรคแพ้ความสูง ป้องกันได้โดยค่อยๆ เดิน ดื่มน้ำเยอะๆ บางคนกินกระเทียมอาหารเสริมก่อนไป สังเกตง่ายๆ คือ จะนอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร เวียนหัว หน้าตาบวม คนไทยมักแสดงอาการที่ระดับ 3,000 เมตรขึ้นไป คนที่แพ้มากๆ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ต้องลงมาอยู่ที่ราบโดยเร็วที่สุด หรือกินซุปกระเทียม เท่าที่คุยกับไกด์ โรคนี้เกิดกับคนทุกชาติ ไม่สำคัญว่าจะมาจากดินแดนหมีขาวอย่างประเทศรัสเซีย หรือมาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างประเทศไทย อัตราเสียชีวิตสูงสุดของการ Trekking Nepal ชาวญี่ปุ่น ยังหาสาเหตุไม่ได้ เป็นเพียงสถิติที่ไกด์บันทึกไว้
Well–Packing
หลักๆ นั้นเตรียมกระเป๋าสองใบสำหรับเทรคกิ้งเนปาล ใบแรกเรียกกันว่า Duffle สำหรับให้ลูกหาบแบกให้ ใบนี้น้ำหนักไม่ควรเกิน 15 กิโลกรัม ใส่เสื้อผ้าและของใช้ที่ไม่จำเป็นระหว่างวัน แยกแยะให้ได้ว่า อะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น เลือกกางเกงแห้งง่าย ลองจอห์นหนึ่งชุด เสื้อกันหนาวอย่างดีสำหรับอุณหภูมิติดลบ ชุดชั้นในอาจซื้อแบบใช้แล้วทิ้ง ใบที่สองคือเป้ประจำตัว ใส่เสื้อกันหนาวอย่างบาง เสื้อกันลม และเสื้อกันฝนแบบผ้าหนา ถุงมือ หมวก ยาประจำตัว ยากินแก้ปวด ยาทาแก้เมื่อย ขวดน้ำจุอย่างน้อยหนึ่งลิตร ไฟฉาย
Good Skin Care
ไม่มีใครว่าอะไรถ้าอยากพกเครื่องสำอางไปเทรคกิ้งเนปาลแต่อย่าลืมว่า น้ำหนักกระเป๋าที่ลูกหาบแบกได้อยู่ที่ 15 กิโลกรัมต่อกระเป๋าหนึ่งใบ และลูกหาบจะแบกแค่ 2 ใบเท่านั้น หรือถ้าอยากพกไปเองก็ได้ แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าคุณจะเดินตัวเบาเป็นการถนอมร่างกายไว้ แนะนำแค่ครีมกันแดด มอยซ์เจอไรเซอร์ก่อนนอน กับขี้ผึ้งทากันปากแห้ง ใครชอบอาบน้ำ ที่พักมีน้ำอุ่นให้อาบ เพียงแต่บางแห่งต้องรอคิวนานและมีค่าใช้จ่าย
Pocket Money
อยากไปเทรคกิ้งเนปาลเอาเงินไปเท่าไหร่ดี เป็นคำถามเบสิคมาก ถ้าคุณจ่ายทุกสิ่งอย่างไปหมดแล้ว ซื้ออุปกรณ์ครบ ก็ควรเตรียมค่าทิปลูกหาบและไกด์ แม้จะเหมาจ่ายไปแล้วก็ตาม คำนวณง่ายๆ ว่า อย่างน้อยค่าทิปวันละหนึ่งร้อยบาท มากหรือน้อยเกินไปไหมกับการที่เขาแบกของให้คุณเป็นเวลาสิบกว่าวัน และเงินสำหรับซื้อของฝาก การแลกเงินนั้นแลกได้ที่สนามบินและในร้านที่ทาเมลหรือโพคาราเช่นเดียวกันซิมการ์ด และสำรองวงเงินในบัตรเครดิตการ์ดไว้ด้วย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
The Right Guide and Porter
เทรคกิ้งที่เนปาลนั้น ลูกหาบและไกด์ สำคัญมาก โดยเฉพาะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ถ้าไม่ใช่ Solo Traveller ที่มั่นใจและพร้อมจะเดินคนเดียวไปกับแผนที่ ควรติดต่อหาไกด์เปี่ยมมีประสบการณ์ ซึ่งมีให้เลือกเยอะมาก พูดคุย ต่อรองกับเขาดีๆ เขาใจดี พร้อมจะดูแลเรา ชอบคุย สงสัยอะไรให้ถาม ไกด์พูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี นอกจากทิปที่จะให้เขาตอนสุดท้าย หลายคนยังให้เสื้อ หมวก เสื้อกันหนาว กางเกง ตอนจบทริปด้วย
Covered Insurance
ปกติไปเที่ยวบางคนไม่สนใจซื้อประกัน แต่สำหรับการเทรคกิ้งที่เนปาล นี่เป็นหนึ่งในข้อบังคับ แนะนำให้ศึกษาข้อมูล โทรสอบถาม เพราะแต่ละปี เงื่อนไข ความคุ้มครองต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย บางครั้งเพื่อนแนะนำบริษัทนึงที่เคยใช้เมื่อปีที่แล้ว ครอบคลุมทุกอย่าง แต่ปีนี้บริษัทเดียวกันอาจไม่ใช้นโยบายเดิม แนะนำให้โทรถามโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ระดับความสูงที่ประกันจะคุ้มครอง อะไรสงสัยโทรถามบริษัทประกันดีที่สุด
Be Prepared
ลองเริ่มต้นหาข้อมูลที่ Thailand Mountaineer Club ที่นี่เป็นชุมชนออนไลน์ที่เข้มแข็งเหมาะสำหรับมือสมัครเล่น มืออาชีพ มีนักเทรคกิ้งใจดีมากมายพร้อมแบ่งปันข้อมูล เราแนะนำให้ไล่อ่านโพสต์เก่าๆ ก่อน เพราะส่วนใหญ่ก็มีคนแนะนำไว้แล้ว รองเท้าเลือกแบบไหน เป้ยี่ห้อไหนดี เสื้อเอาไปกี่ตัว จัดกระเป๋ายังไงดี แลกเงินที่ไหน เดินยากไหม มีรูปสวยๆ มีเกร็ดความรู้ดีๆ ให้อ่านกันอยู่เสมอ หรือใครอยากหาเพื่อนเดินทางลองไปโพสต์หาดูได้ ตามกระทู้พันทิป เว็บต่างประเทศก็เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีเช่นกัน หรืออยากถามเจ้าของเพจก็ยินดี ทักมาได้ที่อีเมล editor@idonothingbutlove.com
Internet
การติดต่อสื่อสาร ใครที่ห่วงเรื่องการติดต่อกับที่บ้าน คนรัก แนะนำให้ซื้อซิมโลคอล ซึ่งจะซื้อที่สนามบินก็ได้ หรือจะไปแวะซื้อที่ทาเมลหรือโพคาราก็ได้ แล้วแต่แผนการเดินทาง บนที่พักมักมีสัญญาณไวไฟให้เชื่อมต่อแบบเสียเงิน แต่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เนตบนเทือกเขานั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้เพราะเดี๋ยวไฟดับบ้าง ลมแรง พายุเข้า ทำใจไปแต่เนิ่นๆ ว่าสองสามวันครั้งถึงอาจจะเชื่อมต่อได้ แต่หลายคนก็ทำใจไปเลยว่า จะไม่ได้ติดต่อใคร เรากำลังจะไปสื่อสารและใช้ชีวิตฟังเสียง สูดกลิ่น และพูดคุยกับธรรมชาติแทน
Know Yourself
ต้องรู้จักร่างกายตัวเอง ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องรีบเดิน ไม่ต้องรีบกิน ค่อยๆ เดินตามจังหวะหัวใจของเรา ใช้เวลาหยุดพักหายใจ แล้วสังเกตวิวทิวทัศน์ตามรายทางบ้าง บางคนวิ่ง รีบเดินเพื่อไปให้ถึงที่พัก เราต่างใช้เวลาสิบกว่าวันเพื่อไปให้ถึง Annapura Base Camp แต่ใช้เวลาแค่เพียงชั่วข้ามคืนอยู่ตรงนั้น หากใครกำลังวางแผนจะไปทริปเทรคกิ้ง ABC ขอแนะนำว่า ให้อยู่พักค้างแรมที่เบสแคมป์อย่างน้อยสักสองคืน แม้จะไม่มีเวลาเที่ยวตามเมืองทาเมล โพคารา หรือกาฏมัณฑุ ก็ไม่เป็นไร นั่งเครื่องบินไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่การจะป่ายปีนขึ้นไปให้ถึงเบสแคมป์นั้นลำบากกว่าหลายเท่านัก บางคนไปถึงก็มืดแล้ว เช้าก็รีบออกเดินทางกลับ ทำไมจึงไม่ใช้เวลาซึมซับบรรยากาศและความรู้สึกตรงนั้นให้เต็มที่
อยากเทรคกิ้งเนปาลให้สนุกนั้น เราจะก้าวเท้าออกเดินทางเมื่อพร้อมเท่านั้น ความมุ่งมั่น หัวใจที่ฮึกเหิมเป็นเรื่องดี แต่การเตรียมตัวให้พร้อมนั้นสำคัญไม่แพ้กัน การเดินทางเป็นกลุ่มอย่าลืมคำนึงถึงเพื่อนร่วมทางด้วย มิตรภาพจะงอกเงยหรือโรยราก็วัดกันที่ระยะเวลาสิบกว่าวันนี้ ใครที่คิดจะเดินทางคนเดียวก็ทำได้ แต่ต้องเตรียมร่างกายและเตรียมแผนให้พร้อมยิ่งกว่าคนที่ไปเป็นกลุ่มมากกว่าหลายเท่า ตลอดเส้นทางจะมีนักเทรคกิ้งเดินสวนผ่านไปมาตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเหงา และยังมีธรรมชาติให้เราได้ดื่มด่ำกันอย่างเต็มอิ่ม และที่สำคัญ เทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่อย่างอ่อนน้อมต่อธรรมชาติมากขึ้น
เบอร์โทรบริษัทประกันสำหรับการเทรกกิ้งที่เนปาล อัพเดทปี 2562
1.AIG 02 644 1999 ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD ต้องสำรองจ่าย IPD&H. ไม่ต้องแต่ให้ติดต่อกลับมาที่ Hotline ได้ทุกรพ.ที่จดทะเบียนถูกต้อง
2.Aliance 02 305 8533 ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD ต้องสำรองจ่าย IPD&H. ไม่ต้องแต่ให้ติดต่อกลับมาที่ Hotline ได้ทุกรพ.ที่จดทะเบียนถูกต้อง
3.Chubb 02 611 4242 ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD ต้องสำรองจ่าย IPD พิจารณาเป็นกรณี หากค่ารักษาพยาบาลสูงหรือเจ็บป่วยหนักไม่ต้องสำรอง H. ไม่ต้องแต่ให้ติดต่อกลับมาที่ Hotline ได้ทุกรพ.ที่จดทะเบียนถูกต้อง
4.Muangthai ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD ต้องสำรองจ่าย IPD&H. ไม่ต้องแต่ให้ติดต่อกลับมาที่ Hotline ได้ทุกรพ.ที่จดทะเบียนถูกต้อง
5.Aetna 02 677 0066 ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD ต้องสำรองจ่าย IPD&H. ไม่ต้องแต่ให้ติดต่อกลับมาที่ Hotline ได้ทุกรพ.ที่จดทะเบียนถูกต้อง ค่ารักษาต่อเนื่องเมืองไทย 10% ของทุนประกัน
6.MSIG 02 007 9009 ไม่ครอบคลุมการเดินทางแบบปีนเขา ครอบคลุมการเดินทางทั่วไป
7.AIA 1581 สอบถามจากตัวแทน – ครอบคลุมทุกการเดินทาง OPD&IPD ต้องสำรองจ่าย H.ติดต่อ Hotline
8.Axa 02 118 8111 ครอบคลุมการเดินทางที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,500 เมตร
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร Gastrogasm กันยายน 2560
Photo by I Do Nothing But Love on Unsplash